ข้อมูลพื้นฐานลุ่มน้ำสะแกกรัง
สภาพพื้นที่ ลุ่มน้ำสะแกกรังเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศไทย มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 4,906.53 ตร.กม. ประกอบไปด้วยลุ่มน้ำสาขา จำนวน 4 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มน้ำสาขาน้ำแม่วงก์ มีพื้นที่ 1,031.54 ตร.กม. คิดเป็น 21.02% ลุ่มน้ำสาขาคลองโพธิ์ มีพื้นที่ 1,174.09 ตร.กม. คิดเป็น 23.93% ลุ่มน้ำสาขาห้วยทับเสลา มีพื้นที่ 755.24 ตร.กม. คิดเป็น 15.39% และลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำสะแกกรังตอนล่าง มีพื้นที่ 1,945.66 ตร.กม. คิดเป็น 39.65% (กรมทรัพยากรน้ำ, 2554) พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยบริเวณทิศตะวันตกของลุ่มน้ำเป็นเทือกเขาสูงและเป็นต้นน้ำของลำน้ำสาขาที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ ห้วยแม่วงก์ ห้วยคลองโพธิ์ และห้วยทับเสลา ต้นกำเนิดของลำน้ำสะแกกรัง คือ เทือกเขาโมโกจู ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดตากและนครสวรรค์ ทางด้านต้นน้ำของลำน้ำสาขาทั้ง 3 สายนี้จะมีความลาดชันค่อนข้างมาก และค่อยลาดเทลงจนไหลออกสู่ ทุ่งราบของแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันออกของลุ่มน้ำ ลำน้ำสาขาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสะแกกรัง คือ ห้วยแม่วงก์ ไหลผ่านอำเภอแม่วงก์ และอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มาบรรจบกับห้วยคลองโพธิ์ ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี กลายเป็นน้ำตากแดดแล้วไหลลงมาบรรจบกับห้วยทับเสลาในเขตอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ไหลเข้าเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์เลียบผ่านภูเขาสะแกกรัง จึงได้ชื่อว่าแม่น้ำสะแกกรัง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือของเขื่อนเจ้าพระยา
สภาพภูมิประเทศ ลุ่มน้ำสะแกกรังมีลักษณะการวางตัวของลุ่มน้ำตามแนวตะวันตก – ตะวันออก อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14° 25′ เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 15° 08′ เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 99° 05′ ตะวันออก ถึงเส้นแวงที่ 100° 05′ ตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับลุ่มน้ำปิง
ทิศใต้ ติดกับลุ่มน้ำท่าจีน
ทิศตะวันออก ติดกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันตก ติดกับลุ่มน้ำแม่กลอง
สภาพลุ่มน้ำทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำเป็นเทือกเขาสูงและเป็นต้นน้ำของลำน้ำสาขา มีความลาดชันค่อนข้างมาก และค่อยลาดเทลงจนไหลออกสู่ทุ่งราบของแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันออกของลุ่มน้ำ
ลุ่มน้ำสะแกกรัง