ข้อมูลพื้นฐานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

สภาพพื้นที่  ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศไทย มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น20,266.49 ตร.กม.  ประกอบไปด้วยลุ่มน้ำสาขาจำนวน 2 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มน้ำสาขาบึงบอระเพ็ด  มีพื้นที่ 4,392.36 ตร.กม. คิดเป็น 21.67%  และลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ 15,875.14 ตร.กม. คิดเป็น 21.67 % (กรมทรัพยากรน้ำ, 2554) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน  ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน  โดยแม่น้ำปิงกับแม่น้ำวังไหลมาบรรจบกันที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก รวมกันเป็นแม่น้ำปิง  และแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันที่อำเภอชุมแสง  จังหวัดนครสวรรค์ รวมกันเป็นแม่น้ำน่าน  หลังจากนั้นแม่น้ำปิงกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ  อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี  นนทบุรี  และกรุงเทพมหานคร  ก่อนออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 

สภาพภูมิประเทศ  ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีลักษณะการวางตัวของลุ่มน้ำตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 13° 30′ เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 16° 05′ เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 99° 30′ ตะวันออก ถึงเส้นแวงที่ 101° 00′ ตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ             ติดกับลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำน่าน

ทิศใต้                ติดกับอ่าวไทย

ทิศตะวันออก       ติดกับลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำบางปะกง

ทิศตะวันตก        ติดกับลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำสะแกกรัง

สภาพลุ่มน้ำทางฝั่งตะวันออกตอนบนเป็นที่ราบสูง มีเนินเขาเตี้ย ๆ เป็นสันกั้นน้ำระหว่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก  ส่วนทางตอนล่างเป็นที่ราบลาดเขาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดสมุทรปราการ  สภาพลุ่มน้ำทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนเป็นที่ราบ และตอนล่างเป็นที่ราบลุ่ม มีเขตติดกับลุ่มน้ำท่าจีนลาดลงไปจรดชายฝั่งทะเล

 

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

10